background iam01

     ในปี ค.ศ.๑๗๘๓ พี่น้องตระกูล Montgolfier ได้แสดงการปล่อยบัลลูน ซึ่งบรรจุด้วยอากาศร้อนต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ แห่งประเทศฝรั่งเศส โดยได้บรรทุก แกะ เป็ด และไก่ ขึ้นไปสูง ๑,๕๐๐ ฟุต และกลับลงมาได้โดยปลอดภัย ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ปีเดียวกันนั้น  Pilatre De Rozier ได้ส่งบัลลูนซึ่งมีนักโทษประหารเป็นผู้โดยสารขึ้นไปที่ระยะสูง ๓๐๐ ฟุต เป็นระยะเวลา ๒๐ นาที ต่อมา ในวันที่ ๑ ธันวาคมปีเดียวกันนั้นเอง เขาจึงได้โดยสารกับบัลลูนบรรจุด้วยก๊าซไฮโดรเจนขึ้นไปที่ระยะสูงถึง ๘,๘๐๐ ฟุต  พร้อมกับรายงานอาการปวดหูและไซนัสขณะกลับลงสู่พื้น  นับได้ว่าเป็นการรายงานอุบัติการณ์ทางสรีรวิทยาการบินครั้งแรกของโลก

     วันที่ ๑๗ ธันวาคม ค.ศ.๑๙๐๓  พี่น้องตระกูล Wright สามารถประดิษฐ์เครื่องบินซึ่งสามารถทำการบินได้นาน ๑๒ วินาที เป็นระยะทาง ๑๒๐ ฟุต  ถือว่าเป็นการบุกเบิกสู่ยุคของอากาศยานที่หนักกว่าอากาศ  ต่อมาอากาศยานได้มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องแต่กลับพบว่าอุปสรรค ที่สำคัญคือข้อจำกัดอันเนื่องมาจากร่างกายมนุษย์นั่นเอง

background iam02

         ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ กองกำลังทางอากาศของชาติต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยเพื่อให้มีความเข้าใจถึงขีดจำกัดและความ สามารถในการปรับตัวของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมต่างๆ อันเนื่องมาจากการบิน เพื่อนำมาใช้เป็นมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานบนอากาศ อีกทั้งยังมีการตรวจคัดเลือกเพื่อให้ได้ผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะเป็นนักบิน อีกด้วย มาตรการดังกล่าวทำให้กองทัพอากาศอังกฤษสามารถลดอัตราการเสียชีวิตเนื่องจาก อากาศยานอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากตัวนักบิน ลงจากร้อยละ ๙๐ ลงเหลือเพียงร้อยละ ๒๐ และร้อยละ ๑๒ ในปีที่ ๒ และ ๓ ตามลำดับ ส่วนประเทศเยอรมันนี สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ได้จัดให้มีแพทย์ประจำการที่หน่วยบินและจัดตั้งหน่วยงานเวชศาสตร์การบินขึ้น ในกองทัพ

     สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้กิจการเวชศาสตร์การบินมีความเจริญรุดหน้าไปเป็นอย่างมาก เกิดความรู้และมีอุปกรณ์แบบใหม่หลายชนิด เช่น อุปกรณ์ออกซิเจน อุปกรณ์สายรัดตัว ตลอดจนเกิดสถาบันวิจัยและฝึกอบรมสรีรวิทยาการบินขึ้น

     สงครามเกาหลีเป็นยุคของเครื่องบินไอพ่นทำให้มีประดิษฐกรรมด้านเวชศาสตร์การ บินใหม่ๆ เช่น ระบบเก้าอี้ดีด อุปกรณ์ต่อต้านแรงจี เป็นต้น และมีพัฒนาการต่อเนื่องไปสู่ระบบการยังชีพในอวกาศในยุคของการส่งมนุษย์ขึ้น ไปสู่อวกาศจนกระทั่งไปลงบนดวงจันทร์ได้ในที่สุด

     ส่วนการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศนั้น มีการดัดแปลงเครื่องบินเพื่อใช้ในการลำเลียงทหารที่บาดเจ็บจากสมรภูมิ ตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๑ หลังจากนั้นในปี ค.ศ.๑๙๒๑-๑๙๒๓ กองทัพฝรั่งเศส ได้ใช้เครื่องบินลำเลียงทหารบาดเจ็บมากกว่า ๑,๐๐๐ คน กลับจากการรบในมอร็อคโค ส่วนเยอรมันนี ใช้ปฏิบัติการทางอากาศลำเลียงผู้ป่วยจากสงครามกลางเมืองในสเปน (ค.ศ.๑๙๓๖ – ๑๙๓๘) เป็นระยะทางถึง ๑,๖๐๐ ไมล์ โดยใช้ระยะเวลาในการบินเดินทางมากกว่า ๑๐ ชั่วโมง และยังสามารถปฏิบัติการได้ผลดีกับผู้ป่วยมากกว่า ๒,๕๐๐ คน ในระหว่างสงครามกับโปแลนด์ใน ค.ศ.๑๙๓๙ อีกด้วย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้เองที่สหรัฐอเมริกาได้ใช้หน่วย Medical Air Ambulance ในการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ จากทุกยุทธบริเวณเป็นจำนวนหลายพันคน ต่อมาได้พัฒนาให้การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศเป็นภารกิจที่มีความสำคัญและ จำเป็นซึ่งทำให้สามารถช่วยลดอัตราการสูญเสียทหารที่ได้รับบาดเจ็บได้เป็น จำนวนมากมายในช่วงสงครามเกาหลี และเวียดนาม ตลอดจนสงครามอ่าวเปอร์เซียที่ผ่านมา